• 18
  • เม.ย.
  • 0
ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณ
Author

ประวัติศาสตร์การแพทย์ยุคโบราณ

กว่าศาสตร์ด้านการแพทย์จะมีความเจริญก้าวหน้าอย่างปัจจุบันที่เห็นกันอยู่นั้น มนุษย์เราต่างก็ผ่านทดลอง ทดสอบทั้งลองกินสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อค้นหายา การพยายามหาคำอธิบายของการเจ็บป่วย จากการอ้างอิงบุญบาป สู่การอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น

Lin’s Thailand รวบรวมเอาประวัติศาสตร์การแพทย์ในยุคอดีตจากทั่วทุกมุมโลกที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปีก่อนไม่ว่าจะเป็นจีน กรีก อียิปต์และโรมันมาให้ทุกท่านเข้าใจว่าการเรียนแพทย์ในแต่ละแต่ละสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย


ตอนที่ 2 ประวัติศาสตร์การแพทย์ ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ


2300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช “หวงตี้เน่ยจิง” ตำราแพทย์เล่มแรกของโลก

ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณ

มนุษย์นั้นต่างก็กลัวความเจ็บป่วยกันทั้งนั้น ในสมัยก่อนถึงได้มีเทพเจ้ามากมายเพื่อให้ผู้คนมีความสบายใจ แต่ในอีกทางก็มีการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “การแพทย์” เพื่อช่วยในการรักษาผู้คน แล้วรู้หรือไม่ว่าตำราการแพทย์ที่มีการจดบันทึกเพื่อใช้ในการรักษาคนนั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ 2300 ปี ก่อนคริสต์ศักราช จักรพรรดิหวงตี้ (หรือจักรพรรดิ์เหลือง(黃帝)) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งประชาชนชาวฮั่น” ได้เป็นผู้ริเริ่มนทึกร่างบันทึกตำราแพทย์ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดคัมภีร์แพทย์อันลือชื่อคือ “หวงตี้เน่ยจิง (黃帝內經)” ซึ่งต่อมาได้นำมาเป็นตำราที่อ้างอิงเกี่ยวกับการรักษาและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทฤษฎีการแพทย์จีน ที่ปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ เก่าแก่มาก ๆ

ในตำราเล่มนี้นั้นแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน แต่ละตอนมี 9 บท ส่วนแรกเป็นส่วนของ “คำถามทั่วไป (ซู่เหวิน(素問))”  มีลักษณะเป็นถกปัญหาวิชาความรู้ทางการแพทย์ของจักรพรรดิหวงตี้กับ อำมาตย์ฉีเปาะ ข้าราชสำนักเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งได้อ้างอิงและกล่าวถึงอาการของโรคต่าง ๆ และสรรพคุณยาจีนโบราณ รวมไปถึงวิธีการรักษา ส่วนที่สองเกี่ยวกับ “จุดสำคัญในร่างกาย (หลิงซู(靈樞)” กล่างถึงการฝังเข็มรักษาโรค

หนังสือ “เน่ยจิง” ที่เห็นกันเป็นรูปเล่มในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณจริง แต่อีกส่วนหนึ่งคนในสมัยต่อมาเขียนเพิ่มเข้าไป ทั้งนี้ก็เพราะจีนได้ผ่านการเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัย มีทั้งช่วงที่ตำราถูกเขียนเข้าไปเพิ่มเติมมากมาย แต่เอาเป็นอย่างไรก็ตามก็ถือได้ว่า “หวงตี้เน่ยจิง” เป็นตำราแพทย์ในยุคแรก ๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนแพทย์ขึ้นอย่างจริงจัง


1,600 ก่อน คริสต์ศักราช กายวิภาคศาสตร์กับหัวใจของชาวอียิปต์โบราณ 

ชาวอียิปต์เป็นอีกกลุ่มชนชาติหนึ่งที่มีอารยธรรมมายาวนาน และเป็นหนึ่งในชาติแรก ๆ ที่สนใจระบบร่างกายของมนุษย์หรือ “กายวิภาค (Anatomy)” ซึ่งหลายคนคงรู้จักวิธีการรักษาศพที่เรียกว่ามัมมี่ ซึ่งจะต้องผ่าตัดเอาอวัยวะภายในออกมา นี่ก็ทำให้ชาวอียิปต์ได้เห็นและรู้จักภายในร่างกายมนุษย์มากขึ้น

การแพทย์ของอียิปต์ได้รับการบันทึกไว้เป็นตัวอักษรโดย เฮโรโดตัส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่เดินไปทางไปอียิปต์ และแต่มาก็มีการแปลไว้เป็นภาษาละติน แต่จริง ๆ แล้วการแพทย์ของอียิปต์เก่าแก่กกว่านั้นมาก

ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณ

ในปี 1822 ที่มีการไขปริศนาตัวอักษรเฮียโรกราฟฟิค (Hieroglyphic) สำเร็จ ก็ทำได้รู้ว่าอียิปต์โบราณมีบันทึกเรื่องการผ่าตัดและกายวิภาคร่างกายมนุษย์ในตำราการแพทย์ ปาปิรัสเอ็ดวินสมิธ (Edwin Smith Papyrus) ได้เขียนถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ วิธีการวินิจฉัยโรครวมไปถึงวิธีการรักษา ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นราว ๆ ปี 1,600 ก่อน คริสต์ศักราช นอกจากนี้ยังมีการค้นพบภาพตามผนังและหลุมศพ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการผ่าตัดปากซึ่งมีอายุมากกว่า 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช

นอกจากนี้ยังมีตำราการแพทย์อื่น ๆ ที่พูดถึงวิธีการรักษาไปในเชิงความเชื่อทางศาสนา การใช้เวทย์มนต์ในการรักษา อาการที่แพทย์ไอยคุปต์ไม่สามารถรักษาได้ก็เช่น แผลกระดูกแตกละเอียด แต่ถ้าบางอาการที่รักษาได้ จะมีข้อแนะนำให้ทาน้ำผึ้งและประคบด้วยเนื้อสดเผื่อเป็นการห้ามเลือด ถือว่ามีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เช่นกัน แต่ถ้ากรณีไหนที่แพทย์รักษาไม่ได้ ก็ยังมีการพึ่งพาเวทมนตร์อยู่ และชาวอียิปต์ยังเชื่อว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของความคิดและวิญญาณก็อยู่ที่หัวใจ ดังนั้นหัวใจของมัมมี่จึงถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

แม้จะเป็นเรื่องราวการแพทย์ที่ต่างไปจากแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เรื่องราวการศึกษากายวิภาคของชาวอียิปต์ ก็ทำให้เกิดการศึกษาการแพทย์ต่อ ๆ มาในกรีก โรมันและยุคกลาง และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน


พาไพรัสอีเบอร์ส์ทำการคุมกำเนิดเมื่อ 2000 ปีก่อน

นอกเหนือจากการแพทย์โบราณและวิชากายวิภาคของชาวอียิปต์แล้ว “นรีเวชวิทยา” ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่ถือกำเนิดในอียิปต์โบราณหรือไอยคุปต์นี่เอง ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาสรีระร่างกายของผู้หญิง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

หลักฐานจากตำราการแพทย์พาไพรัสอีเบอร์ส์ (Ebers Papyrus) แห่งอียิปต์จาก 1,550 ปีก่อนคริสตกาลและพาไพรัสคาฮุน (Kahun Papyrus) จาก 1850 ปีก่อนคริสตกาลได้บันทึกการคุมกำเนิดที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่เก่าแก่ที่สุด โดยการใช้น้ำผึ้ง ใบจากต้นอาเคเชีย(Acacia) ตำผสมกับอินทผลัมและผ้าพันแผลใส่เข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิงเพื่อกีดขวางไม่ให้น้ำอสุจิเข้าไปได้

ซึ่งวิธีการนี้ได้รับสืบทอดต่อ ๆ กันมาจนถึงสมัยกลาง แต่ด้วยความเชื่อในยุคกลางที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนจักรคาทอลิก ที่เชื่อว่าการคุมกำเนิกเป็นบาป ทำให้ในสมัยกลางมีการแนะนำให้ผู้หญิงมัดลูกอัณฑะตัวมิงค์ที่ต้นขาระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และมีการใช้ลำไส้สัตว์สวมระหว่างการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

ส่วนเรื่องประวัติการใช้ถุงยางมาพบกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็คือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยจาโกโม จีโรลาโม กาซาโนวา เป็นนักเขียน นักผจญภัย และนักนิยมสตรี ผู้มีชื่อเสียง จนเรียนคนที่เจ้าชู้กันติดปากกันว่า “คาสโนวา” กาซาโนวาเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป จากความสามารถในลักลอบเป็นชู้และเอาชนะหัวใจหญิงสาวจำนวนมาก เขาได้รรยายเกี่ยวกับการใช้หนังแกะคลุมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ของผู้หญิงเอาไว้ด้วย


1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช การผ่าตัดต้อกระสุด สุดยอดศาสตร์การแพทย์แห่งอินเดีย 

สุศรุตะ สัมหิตา (Sushruta Samhita) เป็นคัมภีร์ทางวรรณกรรมทางการแพทย์ที่ดูเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ของอินเดียโบราณ ซึ่งสุศรุตะก็ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการผ่าตัดและศัลยกรรมของอินเดีย ในคัมภีร์มีการอธิบายถึงเครื่องมือทางการรักษาต่าง ๆ พร้อมวาดรูปประกอบ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นองค์ความรู้ด้านการผ่าตัดในปัจจุบัน

สุศรุตะเป็นทั้งอาจารย์สอนและผู้เขียนตำรา อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสีหรือวาราณสี (Varanasi) เมืองหลวงของแคว้นกาสี ประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคงคา ซึ่งชื่อเสียงที่โด่งดังมากที่สุดของเขาเลยก็คือ การผ่าตัดเอาต้อกระจกออกและการเสริมจมูก (Rhinoplasty) ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยมากเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช การผ่าตัดดวงตาไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แม้แต่ในปัจจุบันก็เช่นกัน

ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณนอกจากนี้เขายังมีทฤษฎีการผ่าตัดมากมาย เช่น ส่วนต่าง ๆ ของจมูก ตกแต่งติ่งหูด้วยเนื้อจากแก้มและตกแต่งอวัยวะเพศรวมไปถึงผู้พิการจากการถูกลงโทษหรือการสู่รบต่าง ๆ รวมถึงการตัดแขนขา การตัดปะผิวหนังในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย

คัมภีร์สุศรุตะ สัมหิตา แรกเริ่มนั้นเขียนเอาไว้เป็นภาษาสันสกฤษโบราณ จนต่อมาช่วง ค.ศ. 350 พระในศาสนาพุทธืได้แปลเป็นภาษาบาลีที่ง่ายขึ้น จากนั้นต่อมาคัมภีร์สุศรุตะ สัมหิตาก็ได้รับการแปลเป็นภาษาอาราบิก ในช่วงศตวรรษที่ 18 จากนั้นจึงได้รับการแปลเป็นภาษาละตินในช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนจะได้การแปลเป้นภาษาอังกฤษ จึงเชื่อกันว่าความรู้ด้านการผ่าตัดจากอินเดียนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผ่าตัดในตะวันตกอย่างจริงจัง


400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฮิปพอคราทีสกับคำปฎิญาณของแพทย์

เมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฮิปพอคราทีส (Hippocrates) เป็นแพทย์ชาวกรีกโบราณ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิดวิชาแพทย์” หรือ “บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก” จากการรวบรวมงานเขียนของผู้อื่นและตำราที่เขียนเองเกี่ยวกับการแพทย์มากกว่า 70 ชิ้น และมีชื่อเสียงอันโด่งดังจาก “คำสัตย์สาบานฮิปพอคราทีส (Hippocrates oath) ซึ่งเป็นจรรยาบรรณแพทย์หรือกฎปฏิบัติของแพทย์ในเวลาต่อ ๆ มา ที่แพทย์จะต้องปฏิญานตนว่าจะเป็นแพทย์ที่ดี ซึ่งในอดีตถึงปัจจุบัน แพทย์ก็จะได้รับความคาดหวังจากสังคมว่าเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ

สมัยกรีกโบราณยังมีความเชื่อกันว่าความเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากการทำผิดบาป เทพเจ้าจึงต้องลงโทษ ดังนั้นวิธีการรักษาจึงต้องรักษากับพระหรือให้ผู้มีเวทย์มนต์มารักษา

สิ่งที่ทำให้ฮิปพอคราทีสแตกต่างจากแพทย์ทั่วไปในสมัยนั้นก็คือเขาปฏิเสธพิธีกรรม หรือการใช้เวทย์มนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรักษา แต่ใช้การรักษาอย่างมีแบบแผนปฎิบัติ เริ่มจากการซักประวัติคนไข้ รวบรวมอาการทำระเบียนบันทึกอาการและประวัติของคนไข้ วางกฎเกณฑ์วิธีการปฏิบัติตนของแพทย์กับคนไข้

ฮิปพอคราทีสใช้เวลาในการศึกษาการรักษาผู้ป่วยจากผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไปทั้งอาการของโรคและวิธีการรักษา เขาจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และจดบันทึกเกี่ยวกับผู้ป่วยอย่างละเอียด ทั้งประวัติส่วนตัว อาการ สาเหตุของโรค รวมถึงวิธีการรักษาด้วย วิธีการรักษาผู้ป่วยของฮิปโปเครตีสจะเป็นไปอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพราะเขาเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นอาการทางธรรมชาติ จึงสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางธรรมชาติ

วิธีการเหล่านี้ยังเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติที่แพทย์ในยุคปัจจุบันก็ยังคงใช้กันอยู่ ดังนั้นจึงบอกได้ว่าฮิปพอคราทีสเป็นผู้ทำให้การศึกษาวิชาแพทย์ทางคลินิกนั้นเป็นระบบ


322 ปี ก่อนคริสต์ศักราช  อริสโตเติลชาวกรีกผู้เริ่มบันทึกกายวิภาคเป็นคนแรก

คิดว่าคนส่วนใหญ่หน้าจะรู้จัก อริสโตเติล (Aristotle 384 – 322 ปี ก่อน ค.ศ.) อยู่แล้วเพราะเขานั้นเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของกรีก และได้ทำการศึกษาในหลายศาสตร์วิชา ชื่อของเขาจึงไปปรากฎอยู่ในแทบจะทุกสาขาวิชาที่เรียน รวมทั้งแพทยศาสตร์ด้วย

เนื่องจากเขาได้มีความพยายามอย่างจริงจังในการศึกษากายวิภาคศาสตร์ โดยมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แม้เขาไม่ได้ทำการผ่าตัดศึกษาจาก ร่างกายคนจริง แต่ก็ถือว่าเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อวงการการแพทย์อย่างมาก

อริสโตเติลนั้นเป็นคนที่ชอบจดบันทึก ซึ่งไม่เพียงแค่จดบันทึกธรรมดา เพราะเขามักจะจดอย่างละเอียดและเป็นระบบ รวมถึงความพยายามในอธิบายสิ่งต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยงเป็นสาเหตุ ซึ่งทำให้เข้าใจง่าย อริสโตเติลได้ทำการสังเกตสัตว์และสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ตัว รวมถึงการแยกแมลงสปีชีส์ต่าง ๆ ออกจากกัน

รวมไปถึงการบันทึกข้อมูลกายวิภาคของสัตว์กว่าร้อยชนิด นอกจากนี้ยังได้อธิบายหลักการต่าง ๆ ทางชีววิทยา ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเหตุผลในการวิเคราะห์สาเหตุอาการของโรค ทฤษฎีการแพทย์ของอริสโตเติลที่มีความสำคัญที่สุดคือเรื่องคุณลักษณะพื้นฐานทั้ง 4 (Four Basic Qualities) ได้แก่ ร้อน เย็น เปียกและแห้ง รวมถึงธาตุทั้ง 4 (Four Elements) อารมณ์ทั้ง 4 (Four Temperaments) ซึ่งเป็นพื้นฐานแนวคิดทางการแพทย์ของกรีกในเวลาต่อมา


280 ก่อนคริสต์ศักราช ฮีโรฟิลุสเชื่อว่าสมองเป็นศูนย์กลางของระบบประสาท

ฮีโรฟิลุส (Herophilos, 335–280 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นแพทย์ชาวกรีกโบราณรายแรกที่เริ่มผ่าตัดร่างกายมนุษย์อย่างจริงจัง  จนได้ชื่อว่าเป็นนักกายวิภาคคนแรก (the first anatomist) ซึ่งกล่าวกันว่าฮีโรฟิลุสไดเผ่าร่างกายนักโทษที่ยังมีชีวิตเป็น ๆ อยู่กว่า 600 คน

ในขณะที่ทฤษฎีการรักษาของอริสโตเติลยังคงแพร่หลาย แพทย์ชาวกรีกจึงเชื่อในเรื่องของความสมดุลระหว่างอารมณ์ เชื่อว่าเลือดเกิดจากอากาศและนำ ไหลเวียนไปทั่วเส้นเลือด จึงต้องรักษาสมดุลระหว่างธาตุ แต่หลังจากที่ฮีโรฟิลุสได้ผ่าร่างกายคนมาเป็นร้อย ๆ  ก็ได้เสนอว่าที่จริงแล้วในเส้นเลือดมีแต่เลือดเท่านั้นแหล่ะ นอกจากนี้ยังแยกความต่างระหว่าง หลอดเลือดแดง (arteries) และหลอดเลือดดำ (veins) และเสนอว่าเลือดจะไหลเวียนในเส้นเลือดแดง รวมไปถึงการวัดชีพจรและอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น

นอกจากนี้ผลงานที่โดดเด่นของฮีโรฟิลุสคือการศึกษาสมอง ซึ่งแยกความแตกต่างระหว่างสมองส่วนหน้า(cerebrum) และสมองส่วนน้อย (cerebellum) และศึกษาเส้นประสาท ฮีโรฟิลุส ได้อธิบายถึงการเคลื่อนไหวของดวงตาที่สัมพันธ์กับเส้นประสาทตา (optic nerve) ประสาทกล้ามเนื้อตา (oculomotor nerve) เขาจึงเสนอว่าสมองเป็นจุดศูนย์รวมของปัญญาและความนึกคิด ไม่ใช่หัวใจ และยังบอกอีกด้วยว่าการออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้เรามีสติสัมปชัญญะ (wisdom)

จากการศึกษาทางการแพทย์อย่างมากมายของเขาทำให้ฮีโรฟิลุส ปฏิเสธความเชื่อเก่า ๆ และมีทฤษฎีทางการแพทย์ที่ใกล้เคียงวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมากขึ้น นอกจากนี้เขายังบรรญัติศัพท์เฉพาะเพื่อใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ แทนที่จะเรียกด้วยคำสามัญทั่ว ๆ ไปซึ่งคำศัพท์ (terminology) เหล่านี้ก็ยังใช้ในการศึกษาทางการแพทย์ถึงปัจจุบัน


310-250 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวอียิปต์ผู้ผ่าตัดร่างกายมนุษย์จนนำไปสู่การค้นพบมากมาย อีราซีสตราตุส

ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณ

เมื่อพูดถึงวิชากายวิภาคชื่อของ ฮีโรฟิลุส นายแพทย์ชาวกรีกคงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่จากการเสนอเรื่องสมองเป็นศูนย์กลางของร่างกาย ขณะเดียวกันในฟากของทะเล ณ โรงเรียนของอเล็กซานเดรียในอียิปต์ ก็มีนายแพทย์ อีราซีสตราตุส (Erasistratus, 310-250 ก่อนคริสต์ศักราช) ผู้ทำการศึกษาร่างกายมนุษย์จากการผ่าดูเช่นกัน

อีราซีสตราตุสพบว่าหัวใจนั้นสามารถเต้นได้เอง สามารถหดและคลายตัวได้ และเส้นเลือดมีเลือดไหลเวียนได้ก็เพราะการเต้นของหัวใจเติมเลือดเข้าสู่เส้นเลือด และการศึกษาภายในหัวใจ อีราซีสตราตุสอธิบายว่าลิ้นหัวใจแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ atrioventricular valves (AV valves) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนกับหัวใจห้องล่าง และ semilunar valves (SL valves) อยู่บริเวณหลอดเลือดอาร์เตอรีที่ออกจากหัวใจ และตั้งชื่อให้กับลิ้นหัวใจ 2 ชนิดคือ Bicuspid valve กับ Tricuspid valve

อีราซีสตราตุสยังค้นพบหน้าที่ของ เอพิกลอตติส (epiglottis) ในลำคอ รวมถึงรู้ว่ากล้ามเนื้อหดตัวและคลายตัวอย่างไรเพื่อจะดึงกระดูกให้อยู่เป็นโครงร่างได้

ซึ่งเขาได้ทำการศึกษาเรื่องเส้นเลือดอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากขนาดของเส้นเลือดนั้นเล็กลงเรื่อย ๆ จึงทำให้การศึกษาทำได้ยากลำบาก อีราซีสตราตุสเสนอเลือดเกิดขึ้นที่ตับและเลือดไหลเวียนในเส้นเลือดแดง โดยมีอากาศเป็นตัวช่วยในการผลักดันเลือดด้วย ซึ่งอากาศได้มาจากปอด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ขัดกับฮีโรฟิลุสที่บอกว่าในเลือดไม่มีอากาศ

งานเขียนของอีราซีสตราตุสนั้นมีความสำคัญต่อการศึกษาในวงการการแพทย์มาก แต่หลังจากอียิปต์พ่ายแพ้ต่ออาณาจักรโรมัน ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ด้านกายวิภาคของอียิปต์จึงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากเท่าไหร่


100 ปีก่อนคริส์ตกาล ยาสลบและการผ่าตัดรักษาโรคในช่องท้องเริ่มเป็นที่รู้จักในจีน

ในช่วงเวลาเดียวกันกับกรีกและอียิปต์ การแพทย์ของจีนก็มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ยาสลบและการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของจีน แพทย์ ฮว๋า โถว หรือ แพทย์ฮัวโต๋ (華佗, Hua Tuo 100 ปีก่อนคริส์ตกาล) ชื่อเสียงของแพทย์ฮัวโต๋ปรากฎในวรรณกรรมสามก๊ก โดยเฉพาะตอนผ่าตัดแขนขูดกระดูกเอายาพิษออกจากแขนกวนอู

ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณ

แนวทางการรักษาอันโด่งดังของแพทย์ฮัวโต๋คือการใช้ยาสลบและการผ่าตัดรักษาโรค เรียกแนวทางการรักษานี้ว่า หมาเฟ้ยซ่าย (麻沸散, Mafeisan) หรือการใช้กัญชา (บ้างว่าเป็นฝิ่น) ผสมกับสมุนไพรหลายอย่าง  เช่น ต้นแมนเดรก (押不蘆, Mandragora officinarum) และลำโพงม่วง (曼佗羅, Datura stramonium รวมทั้งผลไม้ต้มรวมกันแล้วให้คนไข้ดื่มเพื่อให้เกิดอาการชา

นอกจากนี้หมอฮัวโต๋ยังค้นพบวิธีการผ่าตัดหลากหลายรูปแบบโดยอาศัยการฝังเข็มเฉพาะจุดเข้ามาช่วยเสริม แต่เนื่องจากทั้งชีวิตหมอฮัวโต๋แม้จะมีลูกศิษย์ ก็ไม่ได้มีเยอะและเมื่อเขาถูกลอบฆ่า หนังสือหรือตำราต่างของหมอฮัวโต๋ ก็ถูกเผาทำลายทิ้งทั้งหมด จึงทำให้เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะไม่มีใครทราบจริง ๆ ว่าส่วนผสมของยาสลบของหมอฮัวโต๋นั้นมีอะไรบ้าง

ถึงกระนั้นความสามารถพิเศษทางการแพทย์ด้านการวางยาสลบและการผ่าตัดของหมอฮัวโต๋ ก็ทำให้แพทย์ชาวจีนในเวลาต่อมา เริ่มศึกษาศาสตร์การวางยาสลบและการผ่าตัด ซึ่งทำให้หมอฮัวโต๋ได้รับการยกย่องจากชาวจีนให้เป็นเทพเจ้าด้วย


การผ่าตัดท้องแทนการทำคลอดโดยแพทย์ชาวโรมัน

ในสมัยโรมันการคลอดลูกถือเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะมีทั้งความเจ็บปวดและมีโอกาสที่ลูกจะตายถ้าไม่กลับหัวก่อนคลอด ถึงกับมีเครื่องรางที่เกี่ยวข้องกับการคลอดลูกให้ปลอดภัยเลยทีเดียว แต่ก็มีความเชื่อกันว่าในสมัยโรมันนั้นเริ่มมีการผ่าคลอดลูกจากหน้าท้องของผู้หญิง โดยมนุษย์คนแรกที่เกิดจากการผ่าคลอดคือ จูเลียส ซีซ่าร์ จึงทำให้เรียกการผ่าคลอดบุตรแบบสมัยโรมันว่า “การผ่าแบบซีซ่าร์ (Caesarian section)”

หลังจากเกิดองค์ความรู้ด้านการแพทย์จากทั้งในกรีกและอิยิปต์ ทำให้เมื่อโรมันเอาชนะสองที่นี้ได้ โรมันก็เอาความรู้ด้านการแพทย์นี้มาใช้ต่อ มีการสร้างโรงพยาบาลเพื่อบำบัดโรคจากการสงครามและจิตใจ แทนที่จะให้พระหรือคนทรงเจ้ามารักษา

อันที่จริงแล้วในสมัยก่อนนั้นก็มีการผ่าคลอดเด็กออกทางหน้าท้อง แต่มักจะทำในกรณีที่คนเป็นแม่มีโอกาสใกล้จะเสียชีวิตสูง ดังนั้นจึงเป็นการผ่าเพื่อรักษาชีวิตเด็ก แต่ผู้เป็นแม่ก็ต้องตายไป แต่การผ่าแบบซีซ่าร์นั้นมีประโยชน์เพื่อรักษาชีวิตของผู้เป็นแม่ด้วย

ซึ่งไม่ว่าตำนานเรื่องการผ่าคลอดบุตรของซีซาร์จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่นั้น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแรงบัลดาลใจที่ทำให้แพทย์ในยุคต่อ ๆ มาพยายามที่จะหาทางรักษาชีวิตแม่และเด็กให้ปลอดภัย ไม่ทำให้เรื่องการคลอดลูกกลายเป็นเรื่องน่ากลัวในยุคต่อ ๆ มา


ประมาณ ค.ศ. 200: เกเลนกับความเชื่อแพทย์กว่าพันปี

เกเลน (Galen, ประมาณ ค.ศ. 200) แห่งเพอร์กามอน เป็นแพทย์ชาวกรีกซึ่งมีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ของตะวันตกมาเป็นเวลานานกว่าพันปี เนื่องจากงานเขียนด้านการแพทย์ของเขามีเป็นจำนวนมากกว่า 130 ชิ้น  รวมทั้งได้เดินทางไปสาธิตความรู้ด้านการแพทย์โดยเฉพาะในเรื่องกายวิภาคในโรมัน ทำให้เกเลนได้รับนับหน้าถือตาว่าเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ยังมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก และยังสามารถการันตีความเก่งของด้วยการที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ที่ถวายการรักษาจักรพรรดิของโรมันหลายพระองค์ และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของจักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) ที่เลื่องชื่อคนหนึ่งของโรมัน ความรู้ของเกเลนจึงถูกถ่ายทอดในวงการการแพทย์ของโรมันอย่างกว้างขวาง และยาวไปจนเกือบจบยุคกลาง

การรักษาของเกเลนก็ได้แต่การผ่าตัดสมองและดวงตา ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกด้วยการใช้เข็มจะต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เพราะถ้าหากพลาดหมายถึงคนไข้ก็อาจตาบอดได้เลยทีเดียว  เกเลนเป็นผู้ที่สามารถจำแนกหลอดเลือดดำ ออกจากหลอดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน เลือดจะไหลจากอวัยวะเหล่านี้ไปให้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เขาศึกษาเรื่องไตและตับเป็นอย่างมาก โดยศึกษาจากการผ่าสัตว์ต่าง ๆ ดู

แม้ว่าในยุคกลางคริสต์ศาสนาจะห้ามการผ่าร่างกายผู้คนแต่ตำราของเกเลนก็เป็นตำราสำคัญที่ใช้สอนกันในมหาวิทยาลัย อย่างกว้างขวางจนเทคนิดการผ่าเอาเลือดออก (bloodletting) มีอิทธิพลอย่างมากในวงการการแพทย์ของยุโรป ความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาของเกเลนมีการปฏิบัติจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ประวัติศาสตร์-การแพทย์-ยุคโบราณ


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรอกรายละเอียดทิ้งไว้ได้เลย

หมอ-เรียนแพทย์ต่างประเทศ-มหาวิทยาลัยลูบลิน-เปิดรับสมัคร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

??Inbox Facebook กดเลย

☎️☎️โทร : 02-645-4084, 02-645-4085

✅✅Line : @linsmedical หรือ https://line.me/R/ti/p/%40linsmedical

จะรออะไรอีก Lin’ s #เปลี่ยนเรื่องแพทย์ให้เป็นเรื่องง่าย


อ่านเพิ่มเติมเรื่องราวต่าง ๆ 

“หวงตี้เน่ยจิง” ตำราแพทย์เล่มแรกของโลก อ่านเพิ่มเติมได้จาก : https://www.doctor.or.th/article/detail/4421

กายวิภาคศาสตร์กับหัวใจของชาวอียิปต์ อ่านเพิ่มเติม : http://www.gypzyworld.com/article/view/837

การผ่าตัดต้อกระสุด สุดยอดศาสตร์การแพทย์แห่งอินเดีย อ่านเพิ่มเติม : https://hekint.org/2017/01/22/sushruta-the-ancient-indian-surgeon/

ฮิปพอคราทีสกับคำปฎิญาณของแพทย์ อ่านเพิ่มเติม : https://www.hfocus.org/content/2014/12/8971

อริสโตเติลชาวกรีกผู้เริ่มบันทึกกายวิภาคเป็นคนแรก อ่านเพิ่มเติม : http://www.greekmedicine.net/whos_who/Aristotle.html

ฮีโรฟิลุสเชื่อว่าสมองเป็นศูนย์กลางของระบบประสาท อ่านเพิ่มเติม : https://en.wikipedia.org/wiki/Herophilos

ชาวอียิปต์ผู้ผ่าตัดร่างกายมนุษย์จนนำไปสู่การค้นพบมากมาย อ่านเพิ่มเติม : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4290745/

ยาสลบและการผ่าตัดรักษาโรคในช่องท้องเริ่มเป็นที่รู้จักในจีน อ่านเพิ่มเติม : https://www.smithsonianmag.com/science-nature/how-ancient-chinese-surgeons-opened-skulls-and-minds-180961286/

การผ่าตัดท้องแทนการทำคลอดโดยแพทย์ชาวโรมัน อ่านเพิ่มเติม : https://www.nlm.nih.gov/exhibition/cesarean/part1.html

เกเลนกับความเชื่อแพทย์กว่าพันปี อ่านเพิ่มเติม : https://en.wikipedia.org/wiki/Galen

Leave a Comment